- ข้อสังเกตุ
ลูกพูดถึงพ่อ "ศรีบูรพา"
สุรพันธ์ สายประดิษฐ์
ใน ข้อเขียนนี้ เมื่อกล่าวถึงเรื่องระหว่างพ่อกับลูกหรือเรื่องในครอบครัว ผมขอเรียกพ่อว่า "ป๋า" ตามที่เคยเรียกเป็นประจำ เมื่อกล่าวถึงเรื่องทั่วๆ ไป ขอเรียกตามนามปากกาว่า "ศรีบูรพา" เนื่องจากในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติและงาน ของ "ศรีบูรพา" ในหลายแง่มุมแล้ว ผมจึงขอพูดถึงแบบสิ่งละอันพันละน้อย
ชีวิต ของป๋ามิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนดังชื่อที่เป็นดอกไม้ แต่ต้องฟันฝ่าขวากหนามที่แหลมคมไม่น้อยกว่าหนามกุหลาบ พ่อของป๋าตายตั้งแต่ป๋ายังเด็ก แม่ของป๋าต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการตัดเย็บเสี้อผ้า ป๋าเป็นเด็กนักเรียนสามัญชนในโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่มีลูกของคนใหญ่คนโต เรียนอยู่ไม่น้อย เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย ก็ต้องกระโจนเข้าสู่งานที่ท้าทาย โดยไม่ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทันที กว่าจะได้เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบก็หลังจากนั้นหลายปี การทำหนังสือพิมพ์มีทั้งการล้มลุกคลุกคลาน ต้องปิดหนังสือพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ถูกปิด หรือไม่ก็ลาออก แต่ก็มีความสำเร็จอันรุ่งโรจน์สลับกันไปเรื่อยมา การเขียนหนังสืออย่างซื่อตรงต่อประชาชนและต่อมโนธรรมของตน ทำให้ถูกจับกุมคุมขังสองครั้ง บั้นปลายชีวิตก็ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ แต่ผลของความดีที่ทำไว้ ทำให้ป๋าเป็นคนมีบุญ ที่มีครอบครัวอบอุ่นเป็นกำลังใจ มีคู่ชีวิตที่ซื่อตรงเสมอต้นเสมอปลาย ดูแลครอบครัวอย่างดีในยามยากลำบาก และอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขจนวาระสุดท้ายของชีวิต มีลูกที่ตั้งใจเรียน ไม่ก่อเรื่องหนักใจให้พ่อแม่ และเมื่อโตขึ้นก็ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาชีพอันสุจริต ในยามยากลำบาก ป๋าไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องครอบครัว
เมื่อ มีชีวิตอยู่ ป๋าไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลย สมัยนั้นไม่มีรางวัลซีไรต์ ไม่มีศิลปินแห่งชาติ รางวัลที่ได้รับมีแต่คำชมเชยจากผู้อ่าน ซึ่งเป็นความปลื้มปิติสำหรับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่ารางวัลอื่นๆ เมื่ออยู่ในที่
คุมขังก็ได้รับความ เกรงใจและไมตรีจิตจากตำรวจและเจ้าหน้าที่เรือนจำ ได้รับความรักและนับถือจากเพื่อนร่วมคุก และได้ปฏิบัติธรรม ทำวิปัสนา ทำให้มีความสุขทางใจ เมื่อลี้ภัยในต่างประเทศก็ได้รับความเอื้อเฟื้ออย่างดีและเกียรติจากเจ้าของ ประเทศที่ไปลี้ภัยจนวาระสุดท้ายของชีวิต ต่อเมื่อเสียชีวิตแล้ว จึงได้รับการยกย่อง และได้รับรางวัล เช่นรางวัลปรีดี พนมยงค์ และการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลดีเด่นคนหนึ่งของโลก เท่ากับชีวิตได้รับการโรยด้วยกลีบกุหลาบหอมหลังจากเสียชีวิตแล้ว
ป๋า เป็นพ่อที่รักและห่วงใยลูก ป๋ามีงานมากทั้งงานเขียนและงานเพื่อสังคมส่วนรวม นอกจากนั้นบางช่วงก็ถูกคุมขัง ต้องจากครอบครัวไปอยู่ในต่างแดน ลูกได้รับการสอนจากตัวอย่างการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของป๋ายิ่งกว่าการสอน ด้วยคำพูด มรดกที่ป๋าให้แก่ลูกไม่ได้เป็นทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ก็มีบ้านไว้ให้อยู่ มีหนังสือที่เขียนไว้ เป็นเหมือนน้ำบ่อทรายให้ครอบครัวได้ยังชีพและใช้ในยามจำเป็น อย่างไรก็ตามเมื่อป๋าถูกจับครั้งแรกด้วยข้อหาฉกรรจ์ ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไปจะได้ออกมาอยู่กับครอบครัวอีกหรือไม่ ป๋าก็ได้เขียนจดหมายไว้เป็นมรดกให้ลูก และได้ยกคติภาษาอังกฤษมาเป็นข้อเตือนใจ ความว่า "ยอดสูงที่บุคคลสำคัญไต่ไปถึงนั้น มิใช่เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในบัดดล แต่เกิดจากความพากเพียร เหมือนกับการบากบั่นทำงานตอนกลางคืน ในยามที่คนอื่นๆ ยังหลับใหลกันอยู่" ป๋าเองก็ได้ใช้ชีวิตเช่นนี้ แบบอย่างชีวิตและคำสอนของป๋ามีค่าสำหรับลูกยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทอง
ป๋า ให้ลูกเลือกเรียนวิชาชีพที่ชอบโดยสมัครใจ พี่แอ๊ว (สุรภิน) อยากเป็นหมอ จึงเลือกเรียนวิชาแพทย์ ผมชอบวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์แขนงฟิสิกส์ ผู้ที่ชอบวิชานี้อาจเลือกที่จะเป็นวิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ ผมชอบอาชีพแรกมากกว่าจึงเลือกเรียนวิศวกรรม เมื่อเรียนจบแล้ว ทั้งสองคนก็ประกอบสัมมาชีพตามวิชาที่เรียนมา ป๋าไม่ถือว่าลูกจำเป็นต้องยึดอาชีพเดียวกับพ่อแม่ หรือจะต้องเป็นบุคคลสำคัญ มีชื่อเสียงเสมอไป แต่ถือว่าลูกจะมีอาชีพอะไรก็ได้ ขอให้เป็นงานที่ชอบและสุจริต สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้บ้างตามกำลังและความสามารถ
อาชีพ นักเขียนถือเป็นศิลปินประเภทหนึ่ง กล่าวกันว่าศิลปินจำนวนหนึ่งไม่ค่อยจะมีระเบียบในชีวิตประจำวัน เพราะงานศิลปต้องใช้จินตนาการ อย่างที่บางคนกล่าวว่าต้องเป็น “นักฝัน” ไปพร้อมกันด้วย แต่ก็มีนักเขียนจำนวนหนึ่งรวมทั้ง "ศรีบูรพา" มีระเบียบในชีวิตประจำวันพอสมควร ตามปกติ "ศรีบูรพา" จะตื่นเป็นเวลา นั่งทำงานเป็นเวลา แม้จะไม่ตายตัวทีเดียว "ศรีบูรพา" ดื่มและสูบบุหรี่บ้างเช่นเดียวกับนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนส่วนใหญ่สมัย เดียวกัน แต่ก็ไม่มากจนเกินไป และค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ "ศรีบูรพา" ชอบดื่มกาแฟดำใส่น้ำตาล เวลาเขียนนวนิยายหรือบทความ ถ้าต้องคิดนึก มักเดินโหย่งๆ ด้วยปลายเท้าไปๆ มาๆ เมื่อคิดได้ก็นั่งเขียนต่อ เมื่อเขียนเสร็จก็จะตรวจแก้อย่างละเอียด ข้าวของเช่นหนังสือ ปากกา ดินสอ ยางลบ แต่ละวันพอเลิกงานหรือเริ่มงานมักจะจัดวางอย่างค่อนข้างเป็นระเบียบ ชีวิตแต่ละวันมักมีการบันทึกมากบ้างน้อยบ้าง มีการสำรวจตนเอง กำหนดการแก้ข้อบกพร่อง เสริมข้อดีเป็นประจำ และอ่านหนังสือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
โดย ทั่วไป "ศรีบูรพา" เป็นคนร่าเริง มีอารมณ์ขัน เช่นเมื่อไปสหภาพโซเวียตกลับมา แม้จะมีเรื่องเล่าทางด้านดีไม่น้อย ก็ยังเล่าให้ญาติมิตรฟังอย่างมีอารมณ์ขันว่า เมื่อไปถึงวันแรกฝ่ายที่มาต้อนรับก็ถามว่า คุณจะกลับบ้านเมื่อไร (อาจจะเป็นเพราะเขาต้องเตรียมจองตั๋วเครื่องบิน และอื่นๆ) เมื่ออยู่ในจีนได้รับการดูแลต้อนรับดี "ศรีบูรพา" ก็พอใจ มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนจีนพาเดินทางไปชมฐานที่มั่นปฏิวัติมีชื่อที่เมืองเย นอาน ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในเขตภูเขา "ศรีบูรพา" กลับมาเล่าให้ญาติมิตรฟังอย่างติดตลกว่า พอรถสตาร์ตออกไปได้หน่อยก็หมดเขตเมืองแล้ว "ศรีบูรพา" ชอบพูดคุยกับคนรอบข้าง นอกจากญาติมิตรสนิทแล้ว มักจะมีแขกมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ "ศรีบูรพา" จะซักถามทุกข์สุขและชีวิตความเป็นอยู่อย่างละเอียด "ศรีบูรพา" ให้ความเอาใจใส่เยาวชนเป็นพิเศษ ถือเยาวชนนักศึกษาที่รู้จักกันเป็นเหมือนลูกหลานไม่ว่าเมื่ออยู่ใน ออสเตรเลีย ในประเทศไทย และในจีน การพูดคุยกับคนต่างๆ ช่วยให้มีข้อมูลหรือวัตถุดิบที่มีชีวิตชีวาสำหรับใช้เขียน เช่น "โกเมศ" พระเอกในเรื่องจนกว่าเราจะพบกันอีก แม้จะเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้น แต่ก็เอามาจากลักษณะของนักเรียนไทยในออสเตรเลียคนหนึ่ง ที่มีตัวตนจริงๆ
"ศรี บูรพา" เป็นคนสุภาพ ประนีประนอม เวลามีคนแย้งหรือเสนอความเห็นที่ไม่ตรงกัน "ศรีบูรพา" จะรอให้ผู้นั้นพูดจบก่อน แล้วจึงค่อยชี้แจงอย่างใจเย็น หรือไม่ก็รับไว้พิจารณา เมื่อถูกจับกุมคุมขังทั้งสองครั้ง ก็พูดคุยกับตำรวจและเจ้าหน้าที่เรือนจำอย่างเป็นมิตร ในงานเขียนที่ต้องออกความเห็นว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรไม่ดี "ศรีบูรพา" จึงจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมีอยู่หลายครั้งไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น และทำให้ได้รับความลำบากในชีวิต
"ศรี บูรพา" ชอบช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น เมื่ออยู่ในที่คุมขัง มีชาวนาภาคอีสานที่ถูกจับคดีเดียวกัน สนใจเรื่องยาสมุนไพร "ศรีบูรพา" ก็ฝากทางบ้านช่วยซื้อยาสมุนไพรมาให้ "ศรีบูรพา" มาจากครอบครัวสามัญชน เห็นอกเห็นใจคนยากจน อยากให้คนจนเงยหน้าอ้าปากได้ "ศรีบูรพา" ปรารถนาให้สังคมมีความเป็นธรรม จึงเห็นด้วยกับแนวคิดสังคมนิยม อย่างไรก็ตามความคิด "ศรีบูรพา" ในเรื่องศาสนาอาจไม่ตรงกับความคิดของนักสังคมนิยมบางส่วน "ศรีบูรพา" ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เมื่ออยู่ในประเทศจีน "ศรีบูรพา" ก็ยังทำสมาธิ วิปัสสนา และสนทนากับเพื่อนจีนบางคนเกี่ยวกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาตามความคิดของ"ศรีบูรพา" เป็นการเอาธรรมะมาปฏิบัติกับตนเอง ต่างกับการบูชาพระพุทธรูปโดยไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ หรือการทำบุญเพื่อขึ้นสวรรค์โดยไม่ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากในชีวิต ประจำวัน "ศรีบูรพา" ไม่สังกัดพรรคการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งทำให้มีอิสระในฐานะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์
"ศรี บูรพา" ทำสิ่งที่เห็นว่าดีมีประโยชน์โดยมิได้ต้องการการยกย่องสรรเสริญ อย่างไรก็ตามการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวันครบรอบชาตกาล 100 ปีของ "ศรีบูรพา" ถ้า "ศรีบูรพา" ทราบได้ก็คงจะยินดี ที่สำคัญ เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในโอกาสนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทั้งทางด้านวรรณกรรม ด้านหนังสือพิมพ์ และด้านการเมืองภาคประชาชน ตามเจตนารมณ์ที่ "ศรีบูรพา" ได้ร่วมกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ผู้รักความเป็นธรรมบากบั่นทำมาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต.
สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ : เกิด พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นบุตรนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ("ศรีบูรพา") และนางชนิด สายประดิษฐ์ ("จูเลียต") มีพี่สาวเป็นหมอ ชื่อ พ.ญ. สุรภิน ธนะโสภณเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) พ.ศ. ๒๕๐๐ เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ สหภาพโซเวียต (รัสเซีย) จบวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่สถาบันวิศวกรรมพลังงานแห่งกรุงมอสโก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙หลังจากนั้นเดินทางไปอยู่กับบิดามารดาและทำงานในประเทศจีน หลังจากบิดาเสียชีวิตระยะหนึ่ง เดินทางกลับประเทศไทยช่วงสั้นๆ แล้วไปอยู่และทำงานในฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๑ แล้วจึงเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยที่บริษัทศรีอู่ทอง จำกัด แผนกประมูลงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันร่วมทุนกับเพื่อนทำการค้าในนามบริษัทบาลานซ์เอ็นเตอร์ไพรสา จำกัด
แก้ไขล่าสุด (วันอังคารที่ 08 มิถุนายน 2010 เวลา 11:08 น.)